คำเป็น คำตาย
คำเป็น คำตาย เป็นการจำแนกคำตามลักษณะที่ใช้ระยะเวลาออกเสียงต่างกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะทำให้คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นรูปเดียวกัน มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ตัวอย่างเช่น คา เป็นอักษรต่ำ คำเป็น พื้นเสียง* เป็นเสียงสามัญ
ส่วน คะ เป็นอักษรต่ำคำตาย เสียงสั้น พื้นเสียงเป็นเสียงตรี
คำเป็น ได้แก่ คำที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
๑. คำที่พยัญชนะประสมกับสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น มา ดู ปู เวลา ปี ฯลฯ
๒. คำที่พยัญชนะประสมกับสระ –ำ ใ - ไ - เ – า เช่น จำ น้ำ ใช่ เผ่า เสา ไป ฯลฯ
๓. คำที่มีตัวสะกดอยู่ในแม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น จริง กิน กรรม สาว ฉุย ฯลฯ
คำตาย ได้แก่ คำที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
๑. คำที่พยัญชนะประสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น กะทิ เพราะ ดุ แคะ ฯลฯ
๒. คำที่มีตัวสะกดในแม่ กก กบ กด เช่น บทบาท ลาภ เมฆ เลข ธูป ฯลฯ
วิธีพิจารณา
๑) ให้สังเกตที่ตัวสะกดเป็นหลัก ถ้าคำที่ต้องการพิจารณามีตัวสะกดให้ดูที่ตัวสะกดไม่ต้องคำนึงถึงสระเสียงสั้นยาว ดูว่าคำนั้นมีตัวสะกดหรือไม่ ถ้ามีให้ขีดเส้นใต้ตัวสะกด
๒) ดูว่าตัวสะกดนั้นเป็น กบด หรือไม่ ( แม่ กก กบ กด ) ถ้าใช่ คำนั้นจะเป็นคำตาย ถ้าไม่ใช่ กบด คำนั้นจะเป็นคำเป็น
๓) ในกรณีที่ไม่มีตัวสะกด ให้ดูว่าคำนั้นประสมด้วยสระเสียงสั้น หรือเสียงยาว ถ้าอายุสั้น
( เสียงสั้น ) ต้องตาย ถ้าอายุยาว ( เสียงยาว ) จึงเป็น
กลวิธีในการจำคำเป็น คำตาย
คำตาย
|
คำเป็น
|
- พวกที่เป็น กบด ต้องตายก่อน (สะกดด้วยแม่ กก กบ กด)
- อายุสั้นต้องตายตาม (ประสมด้วยสระเสียงสั้น)
|
- สะกดด้วยแม่ กง กน กม เกย เกอว
- อายุยาวเป็น (ประสมด้วยสระเสียงยาว)
|
ให้จำในส่วนของคำตายให้ได้เพราะจำง่าย คือ กบด ต้องตายก่อน และอายุสั้นต้องตายตาม กล่าวคือ สะกดด้วยแม่
กก กบ กด (กรณีมีตัวสะกด) และประสมด้วยสระเสียงสั้น (กรณีไม่มีตัวสะกด) เป็นคำตาย นอกเหนือจากนี้เป็นคำเป็นทั้งหมด
*** ดังนั้นสรุปได้ว่า คำที่ประสมด้วยสระ –ำ ใ - ไ - เ – า เป็นคำเป็น เพราะนับว่ามีตัวสะกด ในมาตรา แม่กม แม่เกย และ แม่เกอว ตามลำดับ
* พื้นเสียง หมายถึง เสียงที่ปรากฏประจำคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ หากมีเสียงวรรณยุกต์ใด ก็ถือว่าคำนั้นมีพื้นเสียงนั้น เช่น คา ไม่มีรูป
วรรณยุกต์กำกับ แต่มีเสียงวรรณยุกต์สามัญ จึงนับว่า คา ซึ่งเป็นอักษรต่ำคำเป็น มีพื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น